Company survival in the COVID-19 crisis

20 May 2020
Recently, Sasin School of Management’s research team – Assistant Professor Piyachart Phiromswad, Assistant Professor Pattarake Sarajoti, Associate Professor Pattanaporn Chatjuthamard, Professor Kua Wongboonsin, Assistant Professor Sabin Srivannaboon – wrote an article with their views on Thailand’s bankruptcy laws and business rehabilitation process in the context of the COVID-19 situation, and how the Thai economy could slide into a recession if these issues are not managed effectively. Read more below.
เครื่องช่วยหายใจของภาคธุรกิจในภาวะวิกฤตโควิด-19 คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) ได้มีการคาดการณ์ใน World Economic Outlook 2020 ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2563 จะติดลบมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.3 เปอร์เซนต์ โดยการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้นั้น ทาง IMF ได้กล่าวว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในโลก หรือ The Great Depression ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2472 เลยทีเดียว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2563 หรือ อาจจะถึงปี พ.ศ. 2564 ธุรกิจจำนวนมากทั่วโลกและในประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งหลายธุรกิจอาจประสบปัญหาหนักถึงขั้นเข้าสู่ภาวะล้มละลายเลยทีเดียว ในบทความนี้คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับ กระบวนการล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ซ้ำเติมและฉุดระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย “ลงเหว” หากกระบวนการนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในวันนี้คำว่า “ล้มละลาย” คงเป็นหนึ่งคำที่ผู้ประกอบการหลายคนคงไม่อยากได้ยิน เพราะเวลาที่ได้ยินคำนี้ หลายคนมักจะนึกถึงกระบวนการจำหน่ายและการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ (liquidation) เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม อีกกระบวนการหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนกระบวนการ liquidation และจะมีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ก็คือกระบวนการฟื้นฟูกิจการ (reorganization) พระราชบัญญัติสำคัญฉบับหนึ่งที่ออกมาเพื่อช่วยลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลในรูปแบบของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีหนี้สินจำนวนมากคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 หรือที่เรียกกันว่า Chapter 11 (ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวแต่อยู่ในสภาวะที่สามารถฟื้นฟูได้ จะได้รับการพักชำระหนี้ (automatic stay) ในทันที และอาจจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสำคัญมากเพราะก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องเลิกกิจการและไม่มีกระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการนี้มักถูกเรียกว่า Chapter 7 (ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งสาระสำคัญของ Chapter 7 คือการจำหน่ายและการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ (liquidation) และบริษัทก็จะถูกฟ้องล้มละลายโดยทันที หนึ่งในงานวิจัยของ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้เขียน ได้ศึกษากระบวนการล้มละลายและกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยได้เก็บข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 คณะผู้วิจัยพบว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต เพราะหากทุกบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินในภาวะวิกฤตจะต้องจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และถูกฟ้องล้มละลายโดยทันที กระบวนการแบบนี้จะเป็นการฉุดภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจให้ลงเหวที่ลึกไปกว่าเดิม ในมุมหนึ่ง เราอาจจะกล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 หรือ Chapter 11 นั้นเปรียบเสมือนการให้ “เครื่องช่วยหายใจ” แก่บริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินในภาวะวิกฤต แต่ยังมีศักยภาพทางธุรกิจและสามารถจ่ายหนี้คืนได้ในอนาคต ซึ่งจากงานวิจัยของ Bris และ คณะ (2006) ที่ศึกษาเปรียบเทียบผลลัพท์ของกระบวนการ Chapter 7 และ Chapter 11 ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า อัตราการได้รับชำระหนี้ของกระบวนการ Chapter 11 นั้นสูงกว่ากระบวนการ Chapter 7 อย่างมีนัยสำคัญในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ ในขณะที่ Gilson (2012) พบว่า Chapter 11 นั้นมีส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ในอดีตกระบวนการฟื้นฟูกิจการของประเทศไทยนั้นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายบริษัทสามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ อาทิเช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้อย่างรวดเร็วและบริษัทก็ปฎิบัติตามแผนได้สำเร็จในเวลาเพียง 2 ปี หรือ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัทปิโตรเคมิคัลไทย (TPI) หรือ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี พ.ศ. 2543 และได้ปฎิบัติตามแผนจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ดี หากกระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การบรรลุข้อตกลงในกระบวนการฟื้นฟูกิจการระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้นั้นจะต้องเกิดขึ้น “อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยจะต้องไม่ใช้เวลานานจนเกินไป ปัญหาหลักๆที่ทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นไม่มีประสิทธิภาพ คือความล่าช้าในการบรรลุข้อตกลงในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของบริษัทเลวร้ายไปกว่าเดิม ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงในกระบวนการฟื้นฟูกิจการควรเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ “หายใจต่อ” อย่างทันท่วงที เพราะมิฉะนั้นสถานการณ์ต่างๆ ของบริษัทอาจแย่ลงจนไม่สามารถฟื้นฟูกิจการก็เป็นได้ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ดีต่อทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพราะถ้าลูกหนี้ไม่รอด เจ้าหนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน) ก็จะไม่รอดเช่นเดียวกัน และอาจจะทำให้เกิดเป็นวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ก็เป็นได้ จากวิกฤตครั้งก่อนๆที่เราประสบ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี พ.ศ. 2551 หรือแม้แต่วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่าการให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่มีศักยภาพโดยการเสริมสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดของธุรกิจเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนการให้เครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยโควิด-19 นั้นเอง ซึ่งถ้ากระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นมีความล่าช้าในการออกแผนฟื้นฟูกิจการ หรือ การเลือกปฏิบัติ ก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจที่บอบช้ำมากอยู่แล้ว และอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ฉุดระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย “ลงเหว” ก็เป็นได้ ปัจจุบันหลายธุรกิจได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรง อาทิเช่น ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจสายการบิน ที่ต้องขาดรายได้ ขาดกระแสเงินสด และอาจจะถึงขั้นล้มละลาย โดยที่ในขณะนี้ หนึ่งในบริษัทที่หลายคนให้ความสนใจในประเด็นนี้เป็นอย่างมากคือ บริษัทการบินไทย ที่กำลังขาดรายได้อย่างรุนแรงและเกิดหนี้สินอย่างมากมาย และอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือ Chapter 11 ซึ่งเราคงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า สถานการณ์ของบริษัทการบินไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ การเจรจาจะใช้เวลานานเกินไปหรือเปล่า แผนกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเป็นอย่างไรและสามารถปฏิบัติได้จริงมากน้อยเพียงใด เพื่อทำให้บริษัทการบินไทยสามารถหลุดจากการมีหนี้สิน และกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง   อ้างอิง Bris, A., Welch, I., & Zhu, N. (2006). The costs of bankruptcy: Chapter 7 liquidation versus Chapter 11 reorganization. The journal of finance, 61(3), 1253-1303. Chatjuthamard, P., Limpaphayom, P. & Nagarajan, N. (2020). Change in new bankruptcy law after Asian financial crisis: evidence from Thailand, working paper, Sasin School of Management Gilson, S. (2012). Coming through in a crisis: How Chapter 11 and the debt restructuring industry are helping to revive the US economy. Journal of Applied Corporate Finance, 24(4), 23-35.   บทความนี้เขียนโดย 1. ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ 2. ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ 3. รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส 4. ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน 5. ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Share this article
You might be interested in...
Contact Us