Recently, the Sasin School of Management Research team – Associate Professor Pattanaporn Chatjuthamard, Assistant Professor Pattarake Sarajoti, Assistant Professor Piyachart Phiromswad, Professor Kua Wongboonsin, Assistant Professor Sabin Srivannaboon – wrote an article about what we can learn from women leaders on how to deal with the COVID-19 crisis.
Read the article below.
บทเรียนจากผู้นำหญิงในภาวะวิกฤต: ผู้นำควรรับมือวิกฤตโควิด-19อย่างไร? ในภาวะวิกฤต หลายคนคงฝากความหวังไว้กับเหล่าผู้นำทั้งในระดับองค์กร และระดับประเทศ โดยเชื่อว่าผู้นำที่ดีจะสามารถบริหารจัดการให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่างๆไปได้ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า “ผู้นำในภาวะวิกฤตควรจะมีลักษณะแบบไหน” และประเด็นนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากตามสื่อต่างๆในช่วงเวลานี้ ในบทความนี้ คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและข้อคิดเกี่ยวกับความสำคัญและบทบาทของผู้นำที่เป็นผู้หญิงในภาวะวิกฤต ที่เราทุกเพศทุกวัยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยเราจะไม่กล่าวถึงว่า ผู้หญิงหรือผู้ชาย เพศไหนมีความสามารถมากกว่ากัน เหมือนกับถามคำถามที่ว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่เราอยากจะเน้นเรื่องการนำจุดเด่นของผู้หญิงมาใช้ในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในช่วงเวลาการเกิดวิกฤตในหลากหลายระดับ เมื่อนึกถึงสุภาพสตรี ผู้หญิง หรือที่รู้จักกันในนามว่าเพศแม่ สิ่งแรกที่หลายๆท่านมักจะนึกถึงคือ แม่ซึ่งเป็นผู้ให้ แม่ซึ่งเป็นผู้มีความละเอียดอ่อน ช่างสังเกต แม่ซึ่งเป็นคนที่คอยเอาใจใส่เลี้ยงดูและดูแลบุตร แม่มักจะเป็นคนแรกที่ต้องรับมือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว และที่สำคัญแม่มีระดับความอดทนที่สูงมาก อีกทั้งผู้หญิงสมัยใหม่หลายท่าน ยังต้องสวมหมวกหลายใบ ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น หน้าที่ของความเป็นแม่ หน้าที่ของความเป็นภรรยา หรืออาจจะต้องทำหน้าที่นอกบ้านถ้ามีงานประจำ และผู้หญิงส่วนมากก็ทำหน้าที่เหล่านั้นพร้อมๆกันได้ดีเสียด้วย ดังนั้นการที่ผู้หญิงสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกภาคส่วน ลักษณะจุดเด่นของผู้นำหญิง อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้นำหญิงสามารถบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตได้ดี ผู้หญิงมักจะมีความละเอียดอ่อน ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งลักษณะเด่นโดยปกติของผู้หญิงคือจะมีความอ่อนหวาน เป็นกันเอง แต่เวลาที่ต้องตัดสินใจ ก็จะใช้ทั้งเหตุผลผสมกับอารมณ์ความรู้สึกและตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดในบางเรื่อง อย่างที่เรามักจะเปรียบผู้หญิงว่าเป็นคนอ่อนนอกแต่แข็งใน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงยังมีทักษะในการสื่อสารที่ดี ชัดเจน ตรงไปตรงมาและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต มีงานวิจัยหลายชิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ยืนยันบทบาทอันโดดเด่นของผู้หญิงในด้านเหล่านี้ อาทิเช่น งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคม ของ George และคณะ (1998) พบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงมักจะช่วยแก้ปัญหาของผู้อื่นได้ “ตรงกับความต้องการ” ของผู้รับการช่วยเหลือมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤต นอกจากนี้ งานวิจัยของ Fox และ Schuhmann (1999) พบว่า ผู้นำหญิงมักจะรับฟังเสียงจากผู้อื่นและใช้การสื่อสารโน้มน้าวให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มากกว่าผู้ชาย ซึ่งการสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้น สามารถช่วยลดความขัดแย้งจากผลของการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี และยังมีงานวิจัยจาก Goman (2016) ซึ่งเป็นประธานบริษัท Kinsey Consulting Services อาจารย์ นักวิจัย และนักเขียนชื่อดังด้านภาษากาย พบว่าผู้หญิงมีความสามารถในการอ่านภาษากายได้ดีกว่าผู้ชาย ประเด็นนี้จะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดีกว่าผู้ชายซึ่งน่าจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเวลาวิกฤตอย่างนี้ บทบาทของผู้นำหญิงในระดับองค์กรในภาวะวิกฤต หนึ่งในงานวิจัย ของ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.ภรศิษฐ์ จิราภรณ์ จากมหาวิทยาลัย Penn State ประเทศสหรัฐอเมริกา (2019) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้เขียนในบทความนี้ ได้ศึกษาบทบาทและความสำคัญของผู้นำหญิง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 หรือ วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ถูกเรียกว่า Hamburger Crisis ทางคณะผู้วิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงและผลประกอบการของบริษัท โดยศึกษาข้อมูลของบริษัทมหาชนทั่วโลกกว่า 1,900 บริษัท ในช่วงเวลากว่า 17 ปี ซึ่งคณะผู้วิจัยพบว่า ในช่วงปีที่เกิดวิกฤต Hamburger บริษัทที่มีสัดส่วนกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงมากกว่า จะมีผลประกอบการของบริษัทที่สูงกว่าทั้งตัวชี้วัดเชิงบัญชี (อาทิ เช่น อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ Return on Assets) และตัวชี้วัดเชิงตลาดหุ้น (อาทิ เช่น อัตราส่วนราคาตลาดต่อราคาบัญชี หรือ Market-to-Book Ratio) นอกจากนี้แล้วคณะผู้วิจัยพบว่าถ้าหากบริษัทมีสัดส่วนกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ (เช่น ถ้าหากกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น จาก 1 ท่าน เป็น 2 ท่าน ในคณะกรรมการบริหาร 10 ท่าน) ในช่วงปีที่เกิดวิกฤต จะทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ Return on Assets เพิ่มขึ้นถึง 8.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสาเหตุหลักอาจจะมาจากลักษณะเด่นของผู้นำหญิงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น บทบาทของผู้นำหญิงในระดับประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ Avivah Wittenberg-Cox ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท 20-first เป็นบริษัทให้คำปรึกษาเรื่องเพศสมดุลให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลก และแต่งหนังสือเกี่ยวกับเพศศึกษารวมไปถึงเขียนบทความให้กับนิตยสารชั้นนำของโลกอย่าง Forbes และ Harvard Business Review ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Forbes (2020) เกี่ยวกับลักษณะของภาวะผู้นำที่จะสามารถฟันฟ่าอุปสรรคและ แก้ไขปัญหาในช่วงภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีนั้น ต้องเป็นผู้นำที่มีการสื่อสารที่ดี ตรงไปตรงมาและเปิดเผยข้อเท็จจริง เป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาดชัดเจนและเชื่อถือได้ในการตัดสินใจ เป็นผู้นำที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นกันเอง รู้จักวิธีการประสานงานที่ดีและอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์ เป็นผู้นำที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ แสดงความเข้าใจรวมไปถึงแสดงความห่วงใยเพื่อได้รับความไว้ใจจากคนอื่น เป็นผู้นำที่รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยในการรับมือกับปัญหา ซึ่งลักษณะเหล่านี้ก็ไปตรงกับจุดเด่นของผู้หญิงในหลายๆด้าน ที่สามารถช่วยในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตได้ ดังเช่น ในบทความของนิตยสาร Forbes (2020) ที่ได้ยกตัวอย่างผู้นำของประเทศเยอรมนี ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์และ เดนมาร์ค ว่าเป็นผู้นำหญิงที่มีการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของโรคโควิค-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้นำหญิงเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารกับประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีความละเอียดอ่อน ความเห็นอกเห็นใจ และความเอาใจใส่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้นำต่อความสำเร็จในการบริหารจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 ตัวอย่างของผู้นำหญิงในประเทศไทย จริงๆในประเทศไทยเราเอง ก็เริ่มเห็นหลายตัวอย่างที่ผู้หญิงถูกเลือกเข้ามารับตำแหน่งบริหารระดับสูงในช่วงเวลาวิกฤต อาทิเช่น ธนาคารยักษ์ใหญ่สีเขียวอย่างธนาคารกสิกรไทย ที่มีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร และนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย เข้ามารับการ แต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นอกจากนั้นแล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของผู้นำหญิงที่น่าชื่นชม คือบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กล่าวชื่นชมว่า อสม. (ทั้งชายและหญิง) มีบทบาทที่สำคัญมากในการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำ เพราะ อสม.ทุกจังหวัดเป็นด่านหน้าของระบบสาธารณสุขไทย และที่สำคัญคือ ประมาณร้อยละ 70 ของ อสม. นั้นเป็นสุภาพสตรี แน่นอนที่สุด สถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ น่าจะเป็นบททดสอบที่ท้าทายสำหรับผู้นำทุกคน ทั้งในระดับชุมชน ระดับองค์กร และระดับประเทศ ทั้งนี้ การบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ในเมืองไทยนั้นก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากระดับนานาชาติ ว่ามีการบริหารจัดการที่ดี สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ และมีจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายดีเป็นระดับต้นๆของโลก ซึ่งคณะผู้เขียนเห็นว่า ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคน และเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติเช่นนี้ จุดเด่นของผู้นำหญิงที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนสามารถนำมาปฏิบัติได้ อ้างอิง Fox, R. L., & Schuhmann, R. A. (1999). Gender and local government: A comparison of women and men city managers. Public Administration Review, 231-242. George, D., Carroll, P., Kersnick, R., & Calderon, K. (1998). Gender-related patterns of helping among friends. Psychology of Women Quarterly, 22(4), 685-704. Goman, C. (2016). Is Your Communication Style Dictated By Your Gender? Forbes, Mar 31, 2016, Retrieved online on May 4, 2020 Papangkorn, S., Chatjuthamard, P., Jiraporn, P., & Chueykamhang, S. (2019). Female directors and firm performance: Evidence from the Great Recession. International Review of Finance. Wittenberg – Cox, A. (2020). What Do Countries With The Best Coronavirus Responses Have In Common? Women Leaders. Forbes, April 13, Retrieved online on May 4, 2020 บทความนี้เขียนโดย 1. รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส 2. ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ 3. ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรย์สวัสดิ์ 4. ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน 5. ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทเรียนจากผู้นำหญิงในภาวะวิกฤต: ผู้นำควรรับมือวิกฤตโควิด-19อย่างไร? ในภาวะวิกฤต หลายคนคงฝากความหวังไว้กับเหล่าผู้นำทั้งในระดับองค์กร และระดับประเทศ โดยเชื่อว่าผู้นำที่ดีจะสามารถบริหารจัดการให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่างๆไปได้ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า “ผู้นำในภาวะวิกฤตควรจะมีลักษณะแบบไหน” และประเด็นนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากตามสื่อต่างๆในช่วงเวลานี้ ในบทความนี้ คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและข้อคิดเกี่ยวกับความสำคัญและบทบาทของผู้นำที่เป็นผู้หญิงในภาวะวิกฤต ที่เราทุกเพศทุกวัยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยเราจะไม่กล่าวถึงว่า ผู้หญิงหรือผู้ชาย เพศไหนมีความสามารถมากกว่ากัน เหมือนกับถามคำถามที่ว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่เราอยากจะเน้นเรื่องการนำจุดเด่นของผู้หญิงมาใช้ในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในช่วงเวลาการเกิดวิกฤตในหลากหลายระดับ เมื่อนึกถึงสุภาพสตรี ผู้หญิง หรือที่รู้จักกันในนามว่าเพศแม่ สิ่งแรกที่หลายๆท่านมักจะนึกถึงคือ แม่ซึ่งเป็นผู้ให้ แม่ซึ่งเป็นผู้มีความละเอียดอ่อน ช่างสังเกต แม่ซึ่งเป็นคนที่คอยเอาใจใส่เลี้ยงดูและดูแลบุตร แม่มักจะเป็นคนแรกที่ต้องรับมือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว และที่สำคัญแม่มีระดับความอดทนที่สูงมาก อีกทั้งผู้หญิงสมัยใหม่หลายท่าน ยังต้องสวมหมวกหลายใบ ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น หน้าที่ของความเป็นแม่ หน้าที่ของความเป็นภรรยา หรืออาจจะต้องทำหน้าที่นอกบ้านถ้ามีงานประจำ และผู้หญิงส่วนมากก็ทำหน้าที่เหล่านั้นพร้อมๆกันได้ดีเสียด้วย ดังนั้นการที่ผู้หญิงสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกภาคส่วน ลักษณะจุดเด่นของผู้นำหญิง อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้นำหญิงสามารถบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตได้ดี ผู้หญิงมักจะมีความละเอียดอ่อน ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งลักษณะเด่นโดยปกติของผู้หญิงคือจะมีความอ่อนหวาน เป็นกันเอง แต่เวลาที่ต้องตัดสินใจ ก็จะใช้ทั้งเหตุผลผสมกับอารมณ์ความรู้สึกและตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดในบางเรื่อง อย่างที่เรามักจะเปรียบผู้หญิงว่าเป็นคนอ่อนนอกแต่แข็งใน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงยังมีทักษะในการสื่อสารที่ดี ชัดเจน ตรงไปตรงมาและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต มีงานวิจัยหลายชิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ยืนยันบทบาทอันโดดเด่นของผู้หญิงในด้านเหล่านี้ อาทิเช่น งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคม ของ George และคณะ (1998) พบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงมักจะช่วยแก้ปัญหาของผู้อื่นได้ “ตรงกับความต้องการ” ของผู้รับการช่วยเหลือมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤต นอกจากนี้ งานวิจัยของ Fox และ Schuhmann (1999) พบว่า ผู้นำหญิงมักจะรับฟังเสียงจากผู้อื่นและใช้การสื่อสารโน้มน้าวให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มากกว่าผู้ชาย ซึ่งการสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้น สามารถช่วยลดความขัดแย้งจากผลของการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี และยังมีงานวิจัยจาก Goman (2016) ซึ่งเป็นประธานบริษัท Kinsey Consulting Services อาจารย์ นักวิจัย และนักเขียนชื่อดังด้านภาษากาย พบว่าผู้หญิงมีความสามารถในการอ่านภาษากายได้ดีกว่าผู้ชาย ประเด็นนี้จะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดีกว่าผู้ชายซึ่งน่าจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเวลาวิกฤตอย่างนี้ บทบาทของผู้นำหญิงในระดับองค์กรในภาวะวิกฤต หนึ่งในงานวิจัย ของ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.ภรศิษฐ์ จิราภรณ์ จากมหาวิทยาลัย Penn State ประเทศสหรัฐอเมริกา (2019) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้เขียนในบทความนี้ ได้ศึกษาบทบาทและความสำคัญของผู้นำหญิง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 หรือ วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ถูกเรียกว่า Hamburger Crisis ทางคณะผู้วิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงและผลประกอบการของบริษัท โดยศึกษาข้อมูลของบริษัทมหาชนทั่วโลกกว่า 1,900 บริษัท ในช่วงเวลากว่า 17 ปี ซึ่งคณะผู้วิจัยพบว่า ในช่วงปีที่เกิดวิกฤต Hamburger บริษัทที่มีสัดส่วนกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงมากกว่า จะมีผลประกอบการของบริษัทที่สูงกว่าทั้งตัวชี้วัดเชิงบัญชี (อาทิ เช่น อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ Return on Assets) และตัวชี้วัดเชิงตลาดหุ้น (อาทิ เช่น อัตราส่วนราคาตลาดต่อราคาบัญชี หรือ Market-to-Book Ratio) นอกจากนี้แล้วคณะผู้วิจัยพบว่าถ้าหากบริษัทมีสัดส่วนกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ (เช่น ถ้าหากกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น จาก 1 ท่าน เป็น 2 ท่าน ในคณะกรรมการบริหาร 10 ท่าน) ในช่วงปีที่เกิดวิกฤต จะทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ Return on Assets เพิ่มขึ้นถึง 8.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสาเหตุหลักอาจจะมาจากลักษณะเด่นของผู้นำหญิงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น บทบาทของผู้นำหญิงในระดับประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ Avivah Wittenberg-Cox ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท 20-first เป็นบริษัทให้คำปรึกษาเรื่องเพศสมดุลให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลก และแต่งหนังสือเกี่ยวกับเพศศึกษารวมไปถึงเขียนบทความให้กับนิตยสารชั้นนำของโลกอย่าง Forbes และ Harvard Business Review ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Forbes (2020) เกี่ยวกับลักษณะของภาวะผู้นำที่จะสามารถฟันฟ่าอุปสรรคและ แก้ไขปัญหาในช่วงภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีนั้น ต้องเป็นผู้นำที่มีการสื่อสารที่ดี ตรงไปตรงมาและเปิดเผยข้อเท็จจริง เป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาดชัดเจนและเชื่อถือได้ในการตัดสินใจ เป็นผู้นำที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นกันเอง รู้จักวิธีการประสานงานที่ดีและอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์ เป็นผู้นำที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ แสดงความเข้าใจรวมไปถึงแสดงความห่วงใยเพื่อได้รับความไว้ใจจากคนอื่น เป็นผู้นำที่รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยในการรับมือกับปัญหา ซึ่งลักษณะเหล่านี้ก็ไปตรงกับจุดเด่นของผู้หญิงในหลายๆด้าน ที่สามารถช่วยในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตได้ ดังเช่น ในบทความของนิตยสาร Forbes (2020) ที่ได้ยกตัวอย่างผู้นำของประเทศเยอรมนี ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์และ เดนมาร์ค ว่าเป็นผู้นำหญิงที่มีการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของโรคโควิค-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้นำหญิงเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารกับประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีความละเอียดอ่อน ความเห็นอกเห็นใจ และความเอาใจใส่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้นำต่อความสำเร็จในการบริหารจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 ตัวอย่างของผู้นำหญิงในประเทศไทย จริงๆในประเทศไทยเราเอง ก็เริ่มเห็นหลายตัวอย่างที่ผู้หญิงถูกเลือกเข้ามารับตำแหน่งบริหารระดับสูงในช่วงเวลาวิกฤต อาทิเช่น ธนาคารยักษ์ใหญ่สีเขียวอย่างธนาคารกสิกรไทย ที่มีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร และนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย เข้ามารับการ แต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นอกจากนั้นแล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของผู้นำหญิงที่น่าชื่นชม คือบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กล่าวชื่นชมว่า อสม. (ทั้งชายและหญิง) มีบทบาทที่สำคัญมากในการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำ เพราะ อสม.ทุกจังหวัดเป็นด่านหน้าของระบบสาธารณสุขไทย และที่สำคัญคือ ประมาณร้อยละ 70 ของ อสม. นั้นเป็นสุภาพสตรี แน่นอนที่สุด สถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ น่าจะเป็นบททดสอบที่ท้าทายสำหรับผู้นำทุกคน ทั้งในระดับชุมชน ระดับองค์กร และระดับประเทศ ทั้งนี้ การบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ในเมืองไทยนั้นก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากระดับนานาชาติ ว่ามีการบริหารจัดการที่ดี สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ และมีจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายดีเป็นระดับต้นๆของโลก ซึ่งคณะผู้เขียนเห็นว่า ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคน และเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติเช่นนี้ จุดเด่นของผู้นำหญิงที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนสามารถนำมาปฏิบัติได้ อ้างอิง Fox, R. L., & Schuhmann, R. A. (1999). Gender and local government: A comparison of women and men city managers. Public Administration Review, 231-242. George, D., Carroll, P., Kersnick, R., & Calderon, K. (1998). Gender-related patterns of helping among friends. Psychology of Women Quarterly, 22(4), 685-704. Goman, C. (2016). Is Your Communication Style Dictated By Your Gender? Forbes, Mar 31, 2016, Retrieved online on May 4, 2020 Papangkorn, S., Chatjuthamard, P., Jiraporn, P., & Chueykamhang, S. (2019). Female directors and firm performance: Evidence from the Great Recession. International Review of Finance. Wittenberg – Cox, A. (2020). What Do Countries With The Best Coronavirus Responses Have In Common? Women Leaders. Forbes, April 13, Retrieved online on May 4, 2020 บทความนี้เขียนโดย 1. รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส 2. ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ 3. ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรย์สวัสดิ์ 4. ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน 5. ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย