Unlock Model for Covid-19: Social Distancing and the New Normal

24 Apr 2020
A recent article written by the Sasin School of Management Research team – Professor Kua Wongboonsin, Assistant Professor Sabin Srivannaboon, Assistant Professor Pattarake Sarajoti, Associate Professor Pattanaporn Chatjuthamard, Assistant Professor Piyachart Phiromswad – about the COVID-19 situation in Thailand. Read the article below.
เปิดเมืองอย่างไรไม่ให้การ์ดตก: การเว้นระยะห่างทางสังคมและความปกติใหม่ของลักษณะงานที่ไม่ปกติ จากสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะคลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่ง (คณะผู้เขียน เขียนบทความนี้เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563) อ้างอิงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง มาตรการต่างๆที่รัฐออกมาคุมเข้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการปิดเมือง ปิดพื้นที่เสี่ยงในหลายๆจังหวัด รวมถึงการประกาศคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนทั่วประเทศ ดูเหมือนจะใช้ได้ผลจริงถึงแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวงก็ตาม แต่คำถามหนึ่งที่คนไทยหลายคนคงมีอยู่ในใจตอนนี้คือ “แล้วไงต่อ?” ถ้าเปิดเมืองแล้วจะเป็นยังไง รัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่า โควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นแล้ว มาตรการต่างๆที่รัฐทำไปในรอบนี้ก็จะไร้ประโยชน์ และอาจจะต้องมีการปิดเมืองรอบสองตามมาในอีกไม่ช้านี้ นอกจากนี้แล้ว รัฐก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปด้วย เพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า หลายธุรกิจหรือหลายสาขาอาชีพยังคงจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทยต่อไปอีกสักระยะถึงแม้ว่าการระบาดจะสามารถควบคุมได้ในรอบนี้ พูดง่ายๆก็คือ หลังเปิดเมืองแล้ว เราจะทำอย่างไรไม่ให้เรา “การ์ดตก” ตามคำเปรียบเปรยของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงอีกครั้ง หรือ ที่หลายคนใช้คำว่า “คลื่นลูกที่สอง” เหมือนที่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กำลังประสบปัญหานี้อยู่ ในบทความนี้ทางคณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและคำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่รัฐควรจะต้องคำนึงถึงโดยอ้างอิงจากลักษณะงานที่ประยุกต์ใช้แนวคิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (หรือ social distancing) ในระดับที่แตกต่างกันซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาเจอคลื่นลูกที่สองของการระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรงอีกครั้งก็เป็นได้ ทางคณะผู้เขียนได้นำข้อมูลของ O*NET มาศึกษา O*NET หรือ The Occupational Information Network คือฐานข้อมูลที่ถูกจัดทำขึ้นจากการสนับสนุนของกระทรวงแรงงานประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำการสำรวจลักษณะและรูปแบบการทำงานของอาชีพต่างๆมากกว่า 900 อาชีพ (ในประเทศไทยเราไม่มีข้อมูลในลักษณะนี้) นักวิจัยในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยก็ได้นำข้อมูลจาก O*NET มาศึกษาโดยอาศัยสมมุติฐานที่ว่า โดยรวมแล้วการทำงานประเภทเดียวกันในประเทศต่างๆจะมีลักษณะและรูปแบบการทำงานที่ใกล้เคียงกัน (เช่น ครูในประเทศสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการทำงานไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับครูในประเทศไทย ทั้งคู่ต้องมีความสามารถในด้านการสื่อสาร เป็นต้น) จากข้อมูลของ O*NET ทางคณะผู้เขียนพบว่ามีอาชีพจำนวนไม่น้อยที่การประยุกต์ใช้แนวคิดการเว้นระยะห่างทางสังคมในการทำงานอาจจะเป็นเรื่องยาก ตารางที่ 1 แสดงให้เห็นถึงตัวชี้วัดและตัวอย่างอาชีพที่ประยุกต์ใช้การเว้นระยะห่างทางสังคมในระดับความยาก/ง่ายที่แตกต่างกัน โดยคณะผู้เขียนได้อาศัยวิธีการของ Koren และ Peto (2020) จุดเด่นของวิธีนี้คือการอาศัยตัวชี้วัดจาก O*NET ที่ค่อนข้างครอบคลุม และมีมากกว่า 10 ตัวชี้วัด โดยแบ่งตัวชี้วัดออกเป็นทั้งหมด 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกคืองานที่ต้องทำกันเป็นทีมและใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก กลุ่มที่สองคืองานที่ต้องพบปะลูกค้าภายนอกและใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก และ กลุ่มที่สามคืองานที่ต้องทำในที่ทำงานเท่านั้นและเป็นงานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่นในห้องเดียวกัน   ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า อาชีพต่างๆมีความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคมที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะกลุ่มอาชีพ บางอาชีพเป็นงานที่ไม่ได้ทำงานเป็นทีมและไม่ได้ใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น นักการตลาดทางโทรศัพท์ หรือ คนพิสูจน์อักษร แต่ในทางตรงกันข้าม บางอาชีพเป็นงานที่ต้องทำเป็นทีมและใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ อาชีพเหล่านี้ก็จะเป็นอาชีพที่การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นไปได้ยากกว่าโดยธรรมชาติของงานเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ในการพิจารณาที่จะเปิดเมืองเพื่อที่จะนำไปสู่การเดินต่อของภาคธุรกิจ และ เป็นการควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ด้วยนั้น  การคำนึงถึงลักษณะของอาชีพและความจำเป็นในการทำงานใกล้ชิดกับผู้อื่นมาเป็นส่วนประกอบในการวางนโยบายและมาตรการต่างๆในการเปิดเมือง อาจจะส่งผลไม่มากก็น้อยต่อการบริหารจัดการคลื่นลูกที่สองของการระบาด โควิด-19 และการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจต่อไป ทางคณะผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างนโยบายตามลักษณะกลุ่มอาชีพที่สามารถนำไปเป็นกรอบกำหนดนโยบายในตารางที่ 2 ดังนี้   สรุปประเด็นสำคัญสองประการจากการศึกษาข้อมูล O*NET ที่ทางคณะผู้เขียนอยากจะนำเสนอคือ
  1. มาตรการช่วยเหลือ: การเปิดเมืองคือการลดการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าหากรัฐให้ทุกอาชีพกลับไปทำงานตามปกติพร้อมๆกัน (แม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยหรือการล้างมือบ่อยๆก็ตาม) อาชีพที่ยากในการเว้นระยะห่างทางสังคมก็จะมีความเสี่ยงสูงและอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นลูกที่สองของการระบาด โควิด-19 ได้ เพราะอาชีพเหล่านั้น โดยธรรมชาติของอาชีพเอง การเว้นระยะห่างทางสังคมอาจจะเป็นเรื่องยากหากต้องปฏิบัติงานให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามปกติ ดังนั้น คณะผู้เขียนมีความเห็นว่า อาชีพกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลในเชิงนโยบายเป็นกรณีพิเศษ อาทิเช่น ถ้าหากให้กลุ่มนี้กลับไปทำงานจริง รัฐอาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยเหลือคนในอาชีพเหล่านี้ให้ปรับตัวและทำงานโดยให้มีระยะห่างทางสังคมให้มากที่สุด อาจจะมีมาตรการที่เกี่ยวกับอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาดที่เฉพาะสำหรับงานในอาชีพกลุ่มนี้ หรือ การให้น้ำหนักกับการตรวจ โควิด-19 ในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้อื่นสูงก่อน เช่น ทันตแพทย์ (ซึ่งในกรณีนี้ก็รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ด้วยเช่นกัน)
  2. มาตรการเยียวยา: หากรัฐเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ เช่น ค่อยๆทะยอยเปิดในบางจังหวัดที่มีความเสี่ยงน้อยก่อน และอาจจะไม่ให้ทุกอาชีพกลับไปทำงานตามปกติพร้อมๆกัน รัฐจำเป็นจะต้องมีการเยียวยาคนกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้อย่างเหมาะสม เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มากเท่าไหร่ ก็จะต้อง“ดิ้นรน” เพื่อเอาชีวิตรอดจากพิษเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น เช่น ต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านในเมือง อาจจะต้องแอบทำงานถ้าหากรัฐให้คนในอาชีพเหล่านี้หยุดงานต่อ หรือตัวเองอาจจะต้องกลายไปเป็นมิจฉาชีพในท้ายที่สุด
ดังนั้นการเปิดเมือง รัฐจะต้องทำอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะนำสังคมของเรากลับไปสู่การปลอดเชื้อ โควิด-19 หรืออย่างน้อย เราก็สามารถควบคุมการแพร่และการติดเชื้อ โควิด-19 ในระดับที่ระบบสาธารณสุขของเราสามารถบริหารจัดการได้ โดยรัฐจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงของประชาชนในการติดเชื้อ โควิด-19 ควบคู่กันไป อ้างอิง Koren, M. & Peto, R. (2020), “Business disruptions from social distancing”, Covid Economics, Issue 2, 8 April 2020. บทความนี้เขียนโดย 1. ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ 2. ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ 3. รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส 4. ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรย์สวัสดิ์ 5. ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Share this article
You might be interested in...
Contact Us